วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การเพาะ”เห็ดฟาง”จากปุ๋ยเปลือกไม้ยูคา

การเพาะ”เห็ดฟาง”จากปุ๋ยเปลือกไม้ยูคา

การผลิตเห็ดฟางใน โรงเรือน มีการใช้วัตถุดิบกันได้หลายอย่างแล้วแต่สถานที่เพาะเห็ดตั้งอยู่ ที่ใด หาวัตถุดิบใดได้ง่าย ราคาถูก เช่น กากปาล์ม ทะลายปาล์ม เปลือกมัน สำปะหลัง เปลือกฝักถั่วเขียว ถุงเห็ดเก่า ฯลฯ เป็นต้น ปัจจุบันมีการนำ เปลือกลำต้นไม้ยูคาลิปตัสมาย่อยสลายแล้วหมักจนเป็นปุ๋ย ไปใช้บำรุงดินปลูก พืชและเพิ่มผลผลิตพืช คุณธนภพ ไตรเวช 100/58 ต.บางไทร อ.บางไทร จ.พระนครศรี อยุธยา (โทร. 0-1499-1867) ได้นำปุ๋ยเปลือกไม้ยูคาไปร่วมการเพาะเห็ดฟางใน โรงเรือน ผลคือได้ผลผลิตและกำไรดีขึ้น ควรเผยแพร่ได้
การเตรียมโรงเรือนเพาะเห็ดฟาง:
โรงเรือนเพาะเห็ดฟางมีขนาด 4 เมตร x 6 เมตร แบ่งเป็นด้านละ 4 ชั้น รวมทั้งหลัง 8 ชั้น แต่ละชั้นกว้าง 1 เมตร ยาว 5 เมตร วัสดุเพาะเห็ดแต่ละรอบประกอบด้วยเปลือกมันสำปะหลัง 1.2-1.5 ต้น ปุ๋ยหมักเปลือกไม้ยูคา 50 กก. รำละเอียด 30 กก. ปูนขาว 4 กก. ยิปซั่ม 4 กก. โดโลไมท์ 4 กก. กากน้ำตาลครึ่งลิตร ฟางข้าว 7 ฟ่อน และเชื้อเห็ดฟาง 230 ถุง
ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางด้วยปุ๋ยเปลือกไม้ยูคา:
ให้นำวัสดุเพาะต่างๆ(ยกเว้นฟางข้าวและเชื้อเห็ด) มารวมกันและคลุกเคล้าให้เข้ากัน รดน้ำให้ชื้น 60%การเติมกากน้ำตาลทำเป็นขั้นตอนสุดท้าย จากนั้นใช้ผ้าพลาสติกใสคลุมกอง หมักทิ้งไว้ 3 คืน นำฟางข้าวปูรองพื้นแต่ละชั้นในโรงเพาะ แล้วเอาวัสดุเพาะที่หมักมาแล้วขึ้นทับบนฟางเกลี่ยให้เสมอกันโดยเว้นขอบฟาง ด้านละ 2 นิ้ว จากนั้นอบไอน้ำที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง 45 นาที ปิดไฟ หยุดไอน้ำปล่อยทิ้งไว้ 1 คืน เอาเชื้อเห็ดฟางมาขยี้ในกะละมังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย นำไปโรยบนวัสดุเพาะ เสร็จแล้วปิดป้อง ปล่อยให้เส้นใยฟูขึ้น เจริญลามแผ่ไปทั่วผิวหน้ากอง 3 วัน จึงรดน้ำตัดใย
เทคนิคกระตุ้นดอกเห็ด:
ปกติเมื่อใส่เชื้อเห็ดฟางในโรงเรือนเพาะได้ 3 วัน เส้นใยเห็ดจะเจริญแผ่ไปทั่ววัสดุเพาะและฟาง เส้นใยจะฟูอยู่และไม่ค่อยรวมตัวกันเป็นดอกเห็ด นอกจากเส้นใยยุบตัวลงรวมกันเพื่อสร้างตุ่มเห็ด คุณธนภพ ไตรเวช ใช้วิธีฉีดพ่นน้ำให้แรงพอประมาณไปที่วัสดุเพาะ จากนั้นอีกประมาณ 3-5 คืนต่อมาจะเริ่มมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายเม็ดผงซักฟอกเกิดขึ้นบนวัสดุเพาะกระจายทั่วไป ระยะนี้จะให้น้ำโดยรดน้ำที่พื้นโรงเรือนให้ไอน้ำระเหยจากพื้นดินรักษาความ ชื้นในเรือนเพาะเห็ด อีก 2-3 คืนต่อมาดอกเห็ดเริ่มโตเท่าเมล็ดถั่วเหลือง การรักษาความชื้นให้ฉีดน้ำข้างฝาโรงเรือน ครั้นดอกเห็ดโตและเก็บขายได้ประมาณ 70 กิโลกรัม ความชื้นที่ชั้นวัสดุลดลง สามารถรดน้ำที่ชั้นวัสดุและเก็บเห็ดต่อไปได้อีก
ผลผลิตที่ได้:
จากการเพาะเห็ดโดยวัสดุเพาะมาแล้วหลายสูตร พบว่าสูตรปุ๋ยเปลือกไม้ยูคานี้จะเก็บเห็ดได้ 110-130 กิโลกรัม ต่อโรงเรือน การเพาะเห็ดสูตรเก่าที่เคยทำจะได้เห็ดเพียง 80-90 กก. ในขณะที่อาหารจากปุ๋ยเปลือกยูคาทำให้ขนาดของดอกเห็ดใหญ่ขึ้น ระยะเวลาเก็บเกี่ยวนานขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตรวมสูงขึ้น
วิธีนี้ยังไม่มีผู้เผยแพร่ข้อมูลมาก่อน ถ้าผู้ใดสนใจสามารถติดต่อที่นายธนภพ ไตรเวช 100/58 ต. บางไทร อ. บางไทร จ. อยุธยา โทร. 08-1449-1867
ผลพลอยได้จากการเพาะเห็ดฟางด้วยวิธีนี้:

หลังการเพาะเห็ดแล้ว ส่วนกากที่เหลือก็คือปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักสามารถนำไปหมักผสมขี้เลื่อย เพื่อเพาะเห็ดยานากิ (เห็ดโคนญี่ปุ่น) เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้าหรือใช้ในฐานะปุ๋ยอินทรีย์ บำรุงดิน ปลูกผัก พืชไร่ ไม้ผล เครื่องเทศสมุนไพร ไม้ดอก ไม้ประดับ ฯลฯ หากหลังการเพาะเห็ดฟางแล้ว ทิ้งเศษเหลือคาเรือนเพาะนานเกินไปจะเกิดตัวไรเห็ด ดังนั้นควรเคลื่อนย้ายวัสดุเก่าออกและนำไปใช้ประโยชน์โดยเร็ว โรงเรือนก็ใช้เพาะเห็ดรอบใหม่

เชื้อเห็ดฟาง

เชื้อเห็ดฟาง 

กรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมคัดเลือกสายพันธุ์เห็ดฟางจากแหล่งวัสดุต่าง ๆ เพื่อเป็นสายพันธุ์เชิงพาณิชย์ระหว่าง ปี พ.ศ. 2544-2546 (รายงานประจำปี กรมวิชาการเกษตร 2546)
จากการเก็บตัวอย่างดอกเห็ดฟางที่เกิดบนกระดาษ ต้นข้าวโพด ขี้เลื่อยใช้แล้ว และทะลายปาล์มน้ำมัน จากจังหวัดต่าง ๆ นำมาแยกเนื้อเยื่อเลี้ยงเป็นเส้นใยบริสุทธิ์เก็บไว้ในน้ำกลั่นที่ผ่านการ นึ่งฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ในครั้งนี้ใช้เชื้อเห็ดที่แยกจากวัสดุดังกล่าว เลี้ยงบน พีดีเอ แล้วขยายลงปุ๋ยหมักเป็นเชื้อเพาะทำการเพาะทดสอบเปรียบเทียบผลผลิตในโรงเรือน พบว่า
1. เชื้อเห็ดฟางสายพันธุ์เบอร์ 6 เป็นสายพันธุ์เหมาะทำการเพาะกับเปลือกฝักถั่วเขียว ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ในสภาพอากาศร้อนขึ้นให้ผลผลิต 1.0113 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งสูงกว่าสายพันธุ์เบอร์ 2 (เชื้อของศูนย์รวบรวมเชื้อเห็ดแห่งประเทศไทย) และสายพันธุ์ที่เกิดบนต้นข้าวโพด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
2. เชื้อเห็ดฟางสายพันธุ์ที่เกิดบนต้นข้าวโพด เหมาะ ทำการเพาะกับขี้เลื่อยที่ใช้แล้วในพื้นที่ภาคกลางในช่วงฤดูร้อน ให้ผลผลิต 1.79 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งสูงกว่าเห็ดฟางสายพันธุ์ที่เกิดบนขี้เลื่อยใช้แล้วและกระดาษอย่างมีนัย สำคัญทางสถิติ แต่เมื่อเพาะข้าวฟ่างในช่วงฤดูฝน ให้ผลผลิตเพียง 0.59 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งไม่ความแตกต่างทางสถิติกับเห็ดฟางสายพันธุ์ที่เกิดบนขี้เลื่อยใช้แล้ว และกระดาษ
3. ได้ทดสอบเห็ดฟางสายพันธุ์ต่าง ๆ เพาะ กับทะลายปาล์มน้ำมันที่ใช้เพาะแล้วนำมาหมักใหม่พบว่า สายพันธุ์ เชียงใหม่-1 ให้ผลผลิตได้ที่เพียง 0.522 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (ตารางที่ 1) และได้นำเชื้อเห็ดฟางสายพันธุ์ที่เกิดบนทะลายปาล์มน้ำมันจาก จ. สิงห์บุรี นำไปเพาะทดสอบกับทะลายปาล์มน้ำมันในแปลงเพาะของเกษตรกรโดยเพาะนอกโรงเรือนใน พื้นที่สวนปาล์มน้ำมันภาคใต้ จ. ชุมพร พบว่าให้ผลผลิต 800- 900 กิโลกรัม ต่อทะลายปาล์มน้ำมัน 12,000 กิโลกรัม (น้ำหนักเปียก) หรือได้เห็ด 6.6-7.5 กิโลกรัมต่อทะลายปาล์ม 100 กิโลกรัม หรือมีค่า B.E. (Biological Efficiency) อยู่ระหว่าง 6.6-7.5% ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2547 ซึ่งได้ผลผลิตสูงกว่าที่มีรายงานว่าได้เห็ดฟางเพียง 2.55% BE (Chan Graham, 1973)
นอกจากนั้นเมื่อทดสอบการใช้เชื้อเห็ดฟาง 14 สายพันธุ์ เพาะกับวัสดุหมักต่าง ๆ พบว่าการใช้ทะลายปาล์มน้ำมัน ให้ผลผลิตต่ำกว่า ดังตารางที่ 2
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบน้ำหนักผลผลิตเห็ดฟางสายพันธุ์ต่าง ๆ จากการเพาะด้วยทะลายปาล์มน้ำมัน ในระบบโรงเรือน ที่ จ. สิงห์บุรี ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2545 (6 ซ้ำ)
ตารางที่ 2 เปรียบเทียบน้ำหนักผลผลิตเฉลี่ย เห็ดฟาง จำนวน 14 สายพันธุ์ จากการเพาะด้วยวัสดุ หมัก ต่าง ๆ 5 ชนิด ระหว่าง พ.ศ. 2544-2546
แนวโน้มของวัตถุดิบ(ปาล์มน้ำมัน)ในอนาคต:
ปริมาณทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับวันเสาร์ที่ 17 เมษายน 2547 ในคอลัมน์ย่อยข่าว หัวข้อ หนุนยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมัน นาย สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า
ยุทธศาสตร์การพัฒนาปาล์มน้ำมันไทยปี 2547-2549 จะเน้นผลิตปาล์มน้ำมันให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ภายใต้กระบวนการผลิตและการตลาดที่มีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันกับน้ำมัน ปาล์มน้ำเข้าและน้ำมันพืชอื่นได้ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นแหล่งที่มาของพลังงาน โดยแผนพัฒนาปาล์มน้ำมันฉบับนี้ได้กำหนดมาตรการ กลไกลดำเนินการด้านการผลิต ในการเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต เน้นพื้นที่ปลูกเดิมมากกว่าขยายพื้นที่ปลูกปาล์มพันธุ์ดีทดแทนสวนปาล์ม น้ำมันที่ปลูกด้วยพันธุ์คุณภาพต่ำ ฯลฯ และตามแผนยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมัน พ.ศ. 2544-49 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดเป้าหมายสำคัญว่า เมื่อสิ้นสุดแผนในปี พ.ศ. 2549 จะสามารถเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยจาก 2.5 ตัน/ไร่/ปี เป็น 3.0 ตัน/ไร่/ปี และจากรายงานของ กฤติยา เอี่ยมสุทธา (2547) ว่า ปี พ.ศ. 2546 ประเทศไทยมีเนื้อที่ยืนต้นของปาล์มน้ำมัน ประมาณ 2.1 ล้านไร่ เนื้อที่ให้ผลผลิต 1.8 ล้านไร่ ประมาณไร่ละ 2.6 ตัน และจะได้ผลผลิต 4.8 ล้านตัน
การคำนวณทะลายปาล์มน้ำมัน :
ทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันสลัดลูกออกแล้ว คงเหลือเป็นทะลายเปล่า 50% โดยน้ำหนัก ผลผลิตปาล์มทั้งหมดเฉลี่ยประมาณ (พ.ศ. 2546) 4.8 ล้านตัน จะมีทะลายเปล่าทั้งหมดเฉลี่ยประมาณ (พ.ศ. 2546) 2.4 ล้านตัน
ผลผลิตปาล์มทั้งหมดเฉลี่ยประมาณ (พ.ศ. 2547-2549) 3.0 x 1.8 ล้านไร่ 5.4 ล้านต้น จะมีทะลายเปล่าทั้งหมดเฉลี่ยประมาณ (พ.ศ. 2547-2549) 2.7 ล้านตัน
ข้อพึงระวังจากการเพาะเห็ดฟางด้วยทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน :
1. ทะลายปาล์มเป็นวัสดุที่มีสารอาหารมากกว่าวัสดุเพาะอื่น ๆ จะมีจุลินทรีย์ปนเปื้อนสูงที่จะกระทบกระเทือนต่อสุขภาพของผู้เพาะในระบบทาง เดินหายใจ และมีผลต่อการเจริญของเห็ดฟางด้วย เพราะว่าจะมีกลุ่มเชื้อราหลายชนิด (ที่ไม่พบเมื่อใช้ฟางข้าวเพาะ) จะเจริญกระจายก่อนบนแปลงเพาะทำให้เกิดช้ากว่าจนทำให้เกษตรกรขาดความมั่นใจใน การเพาะว่าจะได้ดอกเห็ด
2. ทะลายปาล์มเป็นแหล่งสะสมแมลงและหนอน ในการเพาะแบบกองเตี้ย
3. การใช้อาหารเสริมซึ่งมีส่วนเป็นแหล่งเพิ่มราปนเปื้อน ในกลุ่มราเขียว (หลายกลุ่ม) และกลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากอาหารเสริมจะมีแป้ง รำ หรือโปรตีนจากแหล่งต่าง ๆ จะเป็นอาหารของกลุ่มเชื้อราและจุลินทรีย์อื่น ๆ ในการเจริญเติบโตเพาะขยายพันธุ์อย่างดี ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น ดังนั้น ถ้าอาหารเสริมนั้นเก่า เก็บไว้นาน ก็จะเป็นแหล่งแพร่จุลินทรีย์และแมลงปนเปื้อนเป็นอย่างดี
4. ควรมีการระบายความร้อน หรือความชื้นที่มากเกินในแปลงเพาะหรือโรงเรือนเพื่อช่วยให้ดอกเห็ดไม่ฉ่ำน้ำ จนเกินไป ซึ่งถ้าดอกเห็ดฉ่ำน้ำ การเก็บรักษาเห็ดตั้งแต่ช่วงขนส่ง และขายจนถึงผู้บริโภคก็จะเป็นเห็ดฟางที่คุณภาพไม่ดี ซึ่งจะมีผลต่อตลาดเห็ดฟางในอนาคตด้วย
บทสรุป :
เมื่อเรามีโอกาสดีที่จะมีทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันจำนวนมากเป็นวัตถุดิบซึ่ง เก็บความร้อนได้ดีมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อการเจริญของเห็ดฟาง (ตารางที่ 3 และ ตารางที่ 4) มีเทคโนโลยีในการผลิตเห็ดและมีเชื้อพันธุ์เห็ดฟางที่เหมาะสมสำหรับเพาะเห็ด ฟาง เมื่อรับบาลเน้นมุ่งส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยต่อสุขภาพ เห็ดฟางนั้นจัดเป็นพืชผักดังกล่าวอยู่แล้ว ดังนั้น เกษตรกรผู้มีความตั้งใจที่จะเพาะเป็นอาชีพจึงควรต้องมีการวางแผน การจัดการ งานเพาะเห็ดในฟาร์มเห็ดตลอดเวลา จะช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นระหว่างการผลิตเห็ดรวมทั้งผลผลิตเห็ดที่ได้ ออกมาจะมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ในขณะเดียวกันนักวิจัยจะต้องศึกษาและพัฒนาการใช้ประโยชน์ทะลายเปล่าปาล์ม น้ำมันเปลี่ยนให้เป็นดอกเห็ดฟางสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน จากการร่วมมือซึ่งกันและกันของหลาย ๆ ฝ่าย ทำให้เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ตารางที่ 3 ค่าวิเคราะห์ทางเคมีของทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันสดที่สกัดน้ำมันปาล์มไปแล้ว (ข้อมูลจาก บริษัทยูนิออยปาล์ม)

ความเป็นมาในการเพาะเห็ดฟางด้วยทะลายปาล์มน้ำมัน

ความเป็นมาในการเพาะเห็ดฟางด้วยทะลายปาล์มน้ำมัน

วัสดุ เหลือใช้จากการเกษตรและอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยมี ความพยายามเปลี่ยนให้เป็นดอกเห็ดโดยเฉพาะเห็ดฟาง ซึ่งสืบเนื่องจากการที่เรา พบกลุ่มดอกเห็ดฟางเกิดขึ้นมากมายในบริเวณที่มีกองทะลายปาล์มสลายตัว จึงได้ ศึกษาวิธีการนำเศษเหลือจากปาล์มน้ำมันไปใช้เพาะเห็ดฟาง (อนงค์ จันทร์ศรีกุล , 2530) รวมทั้งเพาะเห็ดเป๋าฮื้อ นางรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529-2534 และทำ เชื้อเห็ดฟาง เมื่อปี พ.ศ. 2634 ได้เริ่มใช้เศษเหลือปาล์มน้ำมันส่วนที่เป็น ใยและเปลือกเมล็ดปาล์มหมักเพาะเห็ดฟางในรังไม้สี่เหลี่ยมที่บริษัทแสง สวรรค์ จังหวัดกระบี่ (พ.ศ. 2530) นอกจากนั้นเรายังทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ สนใจ (บริษัทยูนิออยปาล์ม และคุณ ปราณี ลิ่มศรีวิไล ) ใช้ทะลายเปล่าปาล์ม น้ำมันทดลองหมักแล้วนำมาเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย ซึ่งผลการทดลองที่ได้ไม่แตก ต่างกับที่ได้ทดลองไว้ที่แปลงทดลองของบริษัทแสงสวรรค์ โดยได้ผลผลิตเฉลี่ย ไม่เกินร้อยละ 3 หรือได้เห็ดฟางเพียง 3 กิโลกรัม จากการใช้ทะลาย ปาล์ม 100 กิโลกรัม
พื้นที่ที่เพาะปลูกระหว่างปี พ.ศ. 2530-2543 พื้นที่เพาะปลูกจากจังหวัดใน ภาคใต้ : สตูล นราธิวาส สงขลา กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และ ระนอง และจากจังหวัดในภาคตะวันออก : ชลบุรี สู่ภาคกลาง : ประจวบ คีรีขันธ์ นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สุพรรณบุรี พระนครสรีอยุธยา ฯลฯ
พื้นที่เพาะปลูกระหว่างปี พ.ศ. 2543-2547 ได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกจากจังหวัด ในภาคใต้ : สตูล นราธิวาส สงขลา กระบี่ ตรัง นครศรี ธรรมราช สุราษฎร์ ระนอง ชุมพร และ จากจังหวัดในภาคตะวันออก : ชลบุรี สู่ภาค กลาง : ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหา นคร สุพรรณบุรี สิงห์บุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ ภาคตะวันออกเฉียง เหนือ : นครราชสีมา และภาคเหนือ : เชียงใหม่
วิวัฒนาการการเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์มนอกโรงเรือน :
1.1. ระหว่างปี พ.ศ. 2530-2543
การนำทะลายปาล์มน้ำมันมาใช้นั้นมี ขั้นตอน วิธีการเพาะ และการปฏิบัติดูแลรักษาในแปลงเห็ดแต่ละช่วงจะคล้ายคลึงกับการเพาะเห็ดฟางกอง เตี้ยที่ใช้เปลือกฝักถั่วเขียว ฟางข้าว และวัสดุอื่น ๆ แต่ต่างกันที่ทะลายปาล์มน้ำมันมีสารอาหาร น้ำมัน (ในใยปาล์มแห้งจะมีไขมัน 2.29% ข้อมูลจากบริษัทกระบี่ไฟเบอร์ จำกัด) อยู่มากกว่าจึงมีทั้งจุลินทรีย์และแมลง ปนเปื้อน ดังนี้นจึงต้องทำความสะอาดโดยชะล้างด้วยน้ำก่อนหมักและนำไปใช้เพาะ
1.2 ระหว่างปี พ.ศ. 2543-2547 (วิธีการของคุณ ยุธนา กันทพงศ์ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร)
1. การเตรียมทะลายปาล์มน้ำมัน
- ทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน (1 คันรถสิบล้อ) น้ำหนักประมาณ 13 ตัน
- รดด้วยน้ำให้ชุ่มปิดด้วยผ้าพลาสติกเป็นเวลา 4-5 วัน
- ล้างทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันด้วยน้ำแล้วเติมด้วยปูนขาว 10 กิโลกรัม และส่าเหล้า 5 ลิตรผสมน้ำ 100 ลิตร รดกองทะลายปาล์มให้ทั่ว 10 ลิตร
- แล้วปิดกองให้มิดชิดด้วยผ้าพลาสติกเป็นเวลา 7 วัน
2. การเตรียมพื้นที่เพาะ / แปลงเพาะ
พื้นที่ส่วนใหญ่นิยมเพาะกันในสวนปาล์ม ควรเลือกพื้นที่ไม่มีปลวก และปรับพื้นที่ให้เรียบ ขนาดของแปลงเพาะ กว้าง x ยาว ประมาณ 1 x 8 เมตร นำทะลายปาล์มที่ผ่านการหมักแล้ววางเรียงเป็นแนวมุม 45 องศา แล้วรดด้วยน้ำสะอาด กดหรือเหยียบทะลายปาล์มให้แน่นแล้วรดด้วยน้ำปูนขาว (ปูนขาว 5% และน้ำผสมส่าเหล้า (ส่าเหล้า 5 ลิตรน้ำ 100 ลิตร ) ปริมาณ 2 บัว คลุมแปลงเพาะด้วยผืนพลาสติกสีดำ จนเกิดความร้อนซึ่งจะทำให้ตัวหนอนที่มีอยู่ในกองทะลายปาล์มเคลื่อนย้ายขึ้น มาอยู่หน้าพลาสติก จนสามารถกำจัดได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้สารเคมีทะลายปาล์มน้ำมันจำนวนประมาณ 13 ตันนำไปเตรียมแปลงเพาะฟางได้ 24-25 แปลง
3. การเตรียมเชื้อเห็ดฟางที่จะนำมาเพาะ
สูตรอาหาร:
- กากถั่วเหลือง 20 กิโลกรัม
- มูลช้างผสมมูลม้าแห้ง 5 กิโลกรัม
- ยูเรีย เล็กน้อย
- ภูไมท์ 0.6 กิโลกรัม
- รำ 1 กิโลกรัม
- แกลบกาแฟ 10 กิโลกรัม
- ก้อนเห็ดนางฟ้าใช้แล้ว 10 กิโลกรัม
- ส่าเหล้า 1 ลิตร
- ขี้ฝ้าย 10 กิโลกรัม
- เชื้อพันธุ์เห็ดทดสอบสายพันธุ์ V- ทลป กรมวิชาการเกษตร
4. การใส่เชื้อเห็ดฟาง
ใช้เชื้อเห็ดฟางจำนวน 40 ถุง (ต่อแปลงเพาะขนาด กว้าง x ยาว = 1 x 8 ตารางเมตร ) คลุกกับแป้งข้าวเหนียวแล้วโรยลงเฉพาะตรงกลางแปลง ส่วนบริเวณที่เหลือโรยด้วยขี้เลื่อยจากก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าเก่า แล้วคลุมแปลงเพาะด้วยผืนพลาสติก เป็นเวลา 4-5 วัน จนเกิดความร้อนสะสมเพิ่มมากขึ้น ก็จะขึ้นโครงไม้คร่อมแปลงเพาะเพื่อเพิ่มพื้นที่หมุนเวียนของอากาศภายในแปลง เพาะ การปฏิบัติและรักษาให้เกิดดอกเห็ดฟาง กระทำเช่นเดียวกับการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย
*** ผลผลิตเห็ดฟาง 800- 900 กิโลกรัม ต่อทะลายปาล์มน้ำมันจำนวน 13 ตัน
วิวัฒนาการการเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์มในโรงเรือน :
ระหว่างปี พ.ศ. 2530-2543 ข้อมูลการเพาะในโรงเรือนบางส่วนอยู่ใน เล่าเรื่องการเพาะเห็ดฟางด้วยเศษเหลือจากปาล์มน้ำมัน (อัจฉรา พยัพพานนท์, 2543)
ระหว่างปี พ.ศ. 2543-2547
1. วิธีการของ คุณ รุ้งเพชร ทรัพย์สุวรรณ ต. บ้านแป้ง อ. พรหมบุรี จ. สิงห์บุรี
สูตรอาหาร :
- ทะลายปาล์มน้ำมัน 18-19 ตัน
- รำ 15 กิโลกรัม
- ขี้วัว 15 กิโลกรัม
- ปุ๋ยยูเรีย 1 กิโลกรัม
- ปูนขาว 2 กิโลกรัม
หมักในบ่อหมัก และกลับกองนำทะลายปาล์มน้ำมันหมักแล้วขึ้นชั้นในห้องเพาะ ซึ่งกรุงด้วยผ้าพลาสติกสีดำ ห้องเพาะมีขนาด กว้าง x ยาว = มีแถวเพาะ 3 แถว แต่ละแถวมี 4 ชั้น จำนวน 6 ห้อง ได้ผลผลิตห้องละประมาณ 110- 120 กิโลกรัม
การนำทะลายปาล์มใช้เพาะเห็ดฟางแล้วกลับมาใช้ :
หลังจากสิ้นสุดการเพาะครั้งที่ 1 แล้วได้นำทะลายปาล์มเก่ามาหมักใหม่ครั้งที่ 2 โดยใช้วิธีการหมักและอาหารเสริมสูตรเดิม เพาะแล้วได้ผลผลิตห้องละประมาณ 100 กิโลกรัมหลังจากสิ้นสุดการเพาะครั้งที่ 2 แล้วได้นำทะลายเก่ามาหมักครั้งที่ 3 โดยใช้วิธีการหมักและอาหารเสริมสูตรเดิมแต่เพิ่มขี้ฝ้าย 150 กิโลกรัมหรือเปลือกถั่ว 200 กิโลกรัมหมักด้วยอาหารเสริมสูตรเดิมสำหรับปิดทับหน้าทะลายปาล์มเก่าหมัก ได้ผลผลิตห้องละประมาณ 70- 105 กิโลกรัม หลังจากสิ้นสุดการเพาะครั้งที่ 3 คงนำทะลายเก่านั้นกลับมาใช้ โดยดำเนินการเช่นเดียวกับครั้งที่ 3 เป็นการเพาะครั้งที่ 4 ได้ผลผลิตห้องละประมาณ 70- 100 กิโลกรัม ผลผลิตทั้งหมดที่เคยได้ไม่น้อยกว่า 2,100 กิโลกรัมต่อทะลายปาล์ม 18 ตัน
*** หลังจากสิ้นสุดการเพาะครั้งที่ 4 ทะลายปาล์มเก่าจะสลายตัว สามารถนำมาย่อยแล้วบรรจุถุง จำหน่ายเป็นปุ๋ยบำรุงดินได้ราคาถุงละ 15 บาท
2. วิธีการของคุณ อภิรักษ์ พรพุทธศรี (จ. ราชบุรี)
สูตรอาหาร :
- ทะลายปาล์ม 18 ตัน
- สารอีเอ็ม 10 ลิตร
- ยูเรีย 10 กิโลกรัม
- ปุ๋ย (16-16-16) 15 กิโลกรัม
- ปูนขาว 3 กิโลกรัม
ทะลายปาล์มสดทั้งหมดใส่อาหารเสริมแล้วคลุมด้วยผ้าพลาสติก 1 สัปดาห์แล้วจะฉีดด้วยน้ำแล้ว คลุมกองต่ออีก 5 วัน จึงย้ายทะลายปาล์มหมักทั้งหมดลงบ่อซีเมนต์แล้วล้างน้ำทิ้งอีกครั้ง หมักต่อ 2 วัน จึงขนเข้าห้องเพาะ นำขึ้นชั้นเพาะขนาด กว้าง x ยาว = 0.9 x 4.5 เมตร 4 ชั้น จำนวน 4 แถว ลดและทำลายจุลินทรีย์แมลงและไข่แมลงที่ปนเปื้อนทะลายปาล์มหมักด้วยการอบไอ น้ำ แล้วใส่เชื้อเห็ดฟางจำนวน 280 ถุง (ช่วงอากาศเย็นใส่ 300 ถุง) ต่อห้อง สำหรับทะลายปาล์ม 18 ตันหมักใช้เพาะได้ 4 ห้อง ได้ผลผลิตประมาณ 300 กิโลกรัม/ทะลายปาล์ม 4.5 ตันต่อห้องเพาะ หรือ 4.60 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือมีค่า B.E. ประมาณ 6.6% (คิดจากทะลายปาล์มสด) หรือประมาณ 17% (คิดจากทะลายปาล์มแห้ง)

*** ผลผลิตทั้งหมดได้ไม่น้อยกว่าประมาณ 1,200 กิโลกรัมต่อทะลายปาล์ม 18 ตัน

การเพาะ ”เห็ดฟาง” จากเปลือกถั่วเขียว

การเพาะ ”เห็ดฟาง” จากเปลือกถั่วเขียว

ประเทศ ไทยมีการพัฒนาการเพาะเห็ดฟางมานานถึง 50 ปีแล้ว นับว่ามีความก้าวหน้าในการ เพาะเห็ดฟางมากประเทศหนึ่ง โดยมีการทดลองนำวัสดุอื่น ๆ นอกจากฟางมาเพาะเห็ด ฟาง เช่น ผักตบชวา ไส้นุ่น ไส้ฝ้ายเปลือกถั่วเหลือง เปลือกถั่วเขียว เป็น ต้น ปรากฏว่าวัสดุต่าง ๆ ซึ่งเป็นวัสดุที่เหลือใช้สามารถใช้เพาะเห็ดฟาง ได้ แต่ที่ให้ผลผลิตคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด คือ เปลือกถั่วเขียว ซึ่ง เป็นวัสดุที่เหลือใช้จากการปลูกถั่วเขียว นอกจากนี้วิธีการเพาะก็สามารถทำ ได้ง่ายสะดวกรวดเร็วกว่า และผลผลิตสูงกว่าการเพาะด้วยฟางข้าว
วัสดุเพาะ:

1. เชื้อเห็ดฟาง หมายถึง เส้นใยเห็ดฟางที่เจริญเติบโตในปุ๋ยหมักที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคอย่างดี แล้วสามารถที่จะนำไปเพาะได้เลย ควรเลือกซื้อเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพราคาไม่แพง
2. เปลือกถั่วเขียว ควรเลือกเปลือกของฝักถั่วเขียวที่มีลักษณะป่นเล็กน้อยหลังจากนวดเอาเมล็ดออก แล้วและต้องแห้งไม่ถูกน้ำหรือฝนจนกว่าจะนำมาเพาะเห็ดฟาง
3. สถานที่ ควรเป็นที่ดอน ไม่มีมด ปลวก แมลงต่าง ๆ และศัตรูของเห็ดฟางชนิดอื่น ๆ สถานที่นั้นต้องไม่เป็นดินเค็ม ดินด่างจัด หรือน้ำไม่ท่วมขัง ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือสามารถหาน้ำมาใช้ได้สะดวก ต้องไม่เป็นที่ที่เคยเพาะเห็ดฟางมาก่อนอย่างน้อย 1 เดือน และที่สำคัญบริเวณนั้นต้องไม่มีพิษตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชใด ๆ ทั้งสิ้น ในฤดูแล้งควรทำการเพาะในนาข้าว เพื่อเป็นการเพิ่มปุ๋ยหมักให้แก่ข้าวด้วย ส่วนในฤดูฝนควรเลือกที่ตอนกลางแจ้งที่เหมาะสม
4. น้ำ ควรเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีนและกลิ่นเน่าเหม็น ไม่เป็นน้ำเค็ม หรือน้ำกร่อย
5. อาหารเสริม ควรหาง่ายในท้องถิ่น มีลักษณะไม่อุ้มน้ำมากเกินไป มีอาหารที่เหมาะสมสำหรับเห็ดฟางไม่เข้มข้นมากเกินไป อาหารเสริมที่ผ่านการทดลองและได้ผลดี ได้แก่ละอองข้าวผสมมูลควาย มูลโค และปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว สำหรับอัตราส่วนของการผสมนั้นขึ้นกับสถานที่ด้วย เช่น ละอองข้าวกับปุ๋ยหมัก เท่ากับ 1:1 หรือ 4:3 หรือ 2:1 เป็นต้น

6. แบบไม้หรือลังไม้ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูโดยมีด้านกว้างด้านบน 25 เซนติเมตร ด้านล่าง 30 เซนติเมตร ยาว 100 เซนติเมตร และสูง 25 เซนติเมตร
นอกจากนี้ยังมีแผ่นไม้กดใช้สำหรับกดเปลือกถั่วเขียว เพื่อความสะดวกในการทำกองเพาะ โดยใช้ไม้แผ่นขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร และมีไม้สำหรับทำด้ามจับลักษณะคล้ายเกรียงฉาบปูน(ดังรูปด้านล่าง)
7. ผ้าพลาสติก จะใช้ชนิดใสหรือสีดำก็ได้ ขึ้นกับราคาและความคงทน ถ้าหาไม่ได้ก็อาจใช้กระสอบปุ๋ยเย็บติดต่อกันแล้วนำไปล้างให้สะอาดปราศจาก ความเค็มของปุ๋ย เพราะความเค็มจะทำให้ดอกเห็ดไม่เจริญเติบโต
8. โครงไม้ไผ่ หรือจะใช้โครงเหล็กก็ได้ ซึ่งจะใช้ในการขึ้นโครงเมื่อกองเพาะมีอายุได้ 3-4 วันหลังจากวันเพาะ โดยนำไปปักให้เป็นรูปครึ่งวงกลมหรือรูปฝาชีคร่อมกองเห็ดเพาะซึ่งมีส่วนสูง ไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร
9. บัวรดน้ำ จอบ หรือเสียม
10. ฟางข้าวหรือเศษหญ้าแห้ง สำหรับคลุมกองเพาะ เพื่อพรางแสงแดด อาจใช้หญ้าคาหรือแฝกก็ได้
วิธีการเพาะเห็ดฟาง:
1. เตรียมวัสดุเพาะ โดยนำเปลือกถั่วเขียวไปแช่น้ำ ประมาณ 5-10 นาที แล้วจึงนำมาเทกองรวมกันคลุมด้วยผ้าพลาสติกทิ้งไว้หนึ่งคืน เพื่อให้เปลือกถั่วเขียวนิ่มและมีคุณสมบัติที่พร้อมจะเปื่อยสลายได้ ระวังอย่าให้มีเชื้อราขึ้นบนเปลือกถั่วเขียวจะเพาะเห็ดฟางไม่ได้ผล เปลือกถั่วเขียว 1 กระสอบข้าวสาร สามารถเพาะเห็ดฟางได้ 10-12 กอง (แบบไม้)
2. เตรียมสถานที่ ที่จะเพาะ โดยปรับพื้นที่ให้เรียบแล้วพรวนดินแบบทำแปลงผัก ย่อยดินให้แตกร่วนเพราะการเพาะเห็ดด้วยวิธีนี้ ดอกเห็ดฟางจะเกิดบนดินและควรกำจัดวัชพืชออกด้วย จากนั้นจึงตักน้ำรดให้ชุ่มทิ้งไว้หนึ่งคืน
3. เตรียมอาหารเสริม ปริมาณขึ้นสถานที่กล่าวคือถ้าเป็นดินที่ไม่เคยทำสวนผักมาก่อน ให้ใช้ละอองข้าวผสมมูลควายเป็นอาหารเสริม 4 ปี๊บต่อเปลือกถั่วเขียว 25 กอง แต่ถ้าเป็นดินที่เคยทำสวนผักมาก่อนมีความอุดมสมบูรณ์มาก อาจใช้ละอองข้าวอย่างเดียวประมาณ 3 ปี๊บก็เพียงพอ นำอาหารเสริมมาคลุกเคล้ากับน้ำแล้วใช้พลาสติกคลุมไว้หนึ่งคืนเช่นกัน โดยปกติควรจะเตรียมวัสดุเพาะอาหารเสริมและสถานที่ ในตอนเย็น แล้วพักทิ้งไว้หนึ่งคืน รุ่งเช้าจึงจะดำเนินการต่อไป
4. วางแบบไม้ลงบนแปลงที่เตรียมไว้ แล้วโรยอาหารเสริมไปตามขอบด้านในของแบบไม้ นำเปลือกถั่วเขียวที่เตรียมไว้เทลงในแบบไม้ ใช้ไม้กดเปลือกถั่วเขียวให้แน่นโดยมีความสูงประมาณหนึ่งฝ่ามือ (ประมาณ 12-15 เซนติเมตร)
5. ยกแบบไม้ออก แล้วทำกองต่อไปให้ห่างจากกองแรกประมาณหนึ่งฝ่ามือ ทำเหมือนกับกองแรก ควรทำ 25 กองต่อ 1 แปลง เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา ในกรณีที่ทำแปลงละ 25 กอง จะใช้เปลือกถั่วเขียว 2 กระสอบครึ่ง เชื้อเห็ดฟาง 18 ถุง (ขนาดถุงละประมาณ 2 ขีด) ส่วนอาหารเสริมแล้วแต่สภาพของดิน
6. เมื่อสร้างกองเสร็จแล้ว โรยเชื้อเห็ดฟางลงบนดินระหว่างกองและรอบ ๆ กอง แต่ไม่โรยบนกองเปลือกถั่วเขียว ใช้เชื้อเห็ดฟาง 18 ถุงต่อ 25 กอง แล้วโรยอาหารเสริมทับลงบนเชื้อเห็ดฟางอีกที โดยโรยบาง ๆ ถ้าดินอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ก็ให้โรยหนากว่าเล็กน้อย แต่อย่าให้เกิน 1 เซนติเมตร
7. รดน้ำกองเพาะให้ชุ่ม แต่อย่าให้โชกจนน้ำไหลนอง เพราะน้ำจะพาเอาเส้นใยเห็ดไหลไปที่อื่น
8. ใช้ผ้าพลาสติกคลุมกองให้มิดชิด เพื่อทำให้เกิดความร้อนซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดฟาง
9. ใช้ฟางข้าว หรือเศษหญ้าแห้งคลุมบนผ้าพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง โดยคลุมให้หนา ๆ เพื่อป้องกันแสงเข้าไปในกองเพาะและช่วยรักษาความชื้นของกองเพาะอีกด้วย
การดูแลรักษากองเพาะ:
1. ในช่วง 1-2 วันแรก ไม่ต้องทำอะไรกับกองเพาะเลย นอกจากป้องกันไม่ให้สุนัข ไก่ หรือสัตว์อื่น ๆ ไปรบกวนกองเพาะ
2. เมื่อเริ่มวันที่ 3 หลังจากวันเพาะ ให้เปิดกองเพาะดูจะเห็นว่ามีตุ่มเห็ดโตประมาณเกือบเท่าหัวไม้ขีดเต็มไปหมด จึงทำการเปิดกองเพาะทั้งหมด โดยเอาฟางและผ้าพลาสติกออกทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้สภาพของกองเพาะเย็นลงและเป็นการไล่แก๊สที่เกิดจากการหมักเน่าของ เปลือกถั่วเขียวออกไปด้วย
เมื่อกองเพาะเย็นตัวลงแล้วตักน้ำรดกองเพาะ 1-2 หาบบัว จากนั้นจึงทำการยกโครงโดยใช้ไม้ไผ่ปักหัวท้าย แล้วทำให้เป็นโครงคล้ายรูปฝาชีและมีความสูงอย่างน้อย 60 เซนติเมตร แล้วคลุมด้วยผ้าพลาสติก และฟางข้าวเช่นเดิม
3. ทำการเปิดกองเพาะทุกเช้าและเย็นของวันที่ 4-5-6-7 หลังจากวันเพาะ ครั้งละประมาณ 30 นาที ช่วงนี้ให้สังเกตดูการเจริญเติบโตของดอกเห็ดด้วยว่าผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีเส้นใยขึ้นปกคลุมดอกเห็ดมาก และเกิดผิวตกกระก็ให้เปิดกองเพาะนานกว่าเดิม
4. หลังจากเปิดกองเพาะในตอนเย็นของวันที่ 7 หลังจากวันเพาะ ถ้ามีดอกเห็ดฟางที่คาดว่าจะเริ่มเก็บได้ในวันรุ่งขึ้นประมาณครึ่งหนึ่งของ กองเพาะ ก็ให้ตักน้ำรดกองเพาะประมาณ 1 หาบบัว เพื่อเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับดอกเห็ดและเพิ่มความชื้นให้กับกองเพาะด้วย ถ้าไม่รดน้ำจะได้เห็ดที่มีน้ำหนักน้อยกว่าการรดน้ำ
การเปิดดูกองเพาะ
การเก็บดอกเห็ด:
ในวันที่ 8 หลังจากวันเพาะก็สามารถเก็บดอกเห็ดได้เลย การเก็บควรเก็บในตอนเช้ามืด เพื่อดอกเห็ดจะได้ไม่บาน ดอกเห็ดที่เก็บควรมีลักษณะเป็นรูปไข่ปลอกยังไม่แตก และดอกยังไม่บานเพราะถ้าปล่อยให้ปลอกแตกและดอกบานแล้วค่อยเก็บจะทำให้ขายได้ ราคาต่ำ
วิธีเก็บให้ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้กดดอกเห็ดแล้วหมุนเล็กน้อยยกขึ้นเบา ๆ ดอกเห็ดก็จะหลุดออกมาโดยง่าย ถ้ามีดอกเห็ดขึ้นอยู่ติดกันหลายดอก ควรเก็บขึ้นมาพร้อมกันทั้งหมดทีเดียว ถ้าเก็บเฉพาะดอกเห็ดที่โตออกมาดอกที่เหลือจะไม่โตและฝ่อตายไป
ไม่ควรใช้มีดดัดดอกเห็ด เพราะจะทำให้มีเศษเหลืออยู่ซึ่งอาจจะเน่าและลุกลามไปทั่วกองได้
เมื่อเก็บเห็ดออกมาแล้ว ต้องทำการตัดแต่งเอาดิน หรืออาหารเสริมออกให้หมด จากนั้นนำใส่ลงในภาชนะที่โปร่ง เช่น กระบุง ตะกร้า เข่ง ที่รองด้วยกระดาษ หรือใบกล้วย ห้ามพรมน้ำหรือแช่น้ำเด็ดขาด เพราะจะทำให้เห็ดอมน้ำ เก็บไว้ได้ไม่นาน เน่าเสียง่ายกว่าปกติ และจะทำให้รสชาติเสียไปด้วย สำหรับผลผลิตต่อกองเพาะนั้น ได้ประมาณ 5 ขีด จนถึง 1 กิโลกรัม โดยเก็บได้ถึง 3 ครั้ง ขึ้นกับคุณภาพของเชื้อเห็ดฟาง และการดูแลรักษาด้วย
ศัตรูเห็ดฟางและการป้องกันกำจัด:
1. โรคราเมล็ดผักกาดหรือราหัวแข็ง
เริ่มแรกจะเกิดเป็นเส้นใยขาวแผ่หนาเห็นได้ชัด พอแก่จะเกิดเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีขาวต่อมากลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ราชนิดนี้มักทำให้กองเพาะเห็ดเน่าได้ เชื้อราจะติดมากับเปลือกถั่วเขียว หรืออยู่บนดินที่มีโรคนี้อยู่ก่อนแล้ว
การป้องกัน :
อาจทำได้โดยใช้เปลือกถั่วเขียวที่แห้งและสะอาดไม่มีเชื้อราชนิดอื่นขึ้น ใช้เชื้อเห็ดฟางที่ดี และดูแลรักษากองเพาะให้ถูกวิธี อย่าเพาะเห็ดฟางซ้ำที่เดิม ถ้าโรคนี้เกิดขึ้นควรนำไปเผาทำลายเสีย
2. โรคเน่า
เชื้ออาจติดมากับเปลือกถั่วเขียวหรือน้ำที่ใช้รดทำให้เห็ดฟางเน่าได้
การป้องกัน :
เหมือนกับโรคราเมล็ดผักกาด
3. แมลง ได้แก่ มด ปลวก จะมาทำรังและกัดกินเชื้อเห็ดและรบกวนเวลาทำงาน
การป้องกัน :
ควรเลือกสถานที่เพาะเห็ดฟาง ไม่ให้มีมด ปลวก ไม่แนะนำให้ใช้สารฆ่าแมลง เพราะการเพาะเห็ดชนิดนี้จะได้เห็ดที่เกิดบนดินจำนวนมาก และอีกประการหนึ่ง เห็ดมีอายุสั้นอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้
4. เห็ดราชนิดอื่น ได้แก่ เห็ดขี้ม้า เห็ดหมึก จะเจริญแข่งกับเห็ดฟางและแย่งอาหารบางส่วนไป
การป้องกัน :
ทำได้โดยใช้เปลือกถั่วเขียวที่แห้ง และสะอาดไม่มีเชื้อราชนิดอื่นขึ้น ใช้เชื้อเห็ดฟางที่ดีและดูแลรักษากองเพาะให้ถูกวิธี

5. สัตว์ชนิดอื่น ได้แก่ หนู จิ้งเหลน กิ้งกือ คางคก จะกัดหรือแทะเห็ดได้ นอกจากนี้ยังสามารถคุ้ยทำลายกองเพาะจนทำให้เส้นใยขาด แต่ทำความเสียหายไม่มากนัก

การเพาะ”เห็ดฟาง” ด้วยเปลือกมันสำปะหลัง

การเพาะ”เห็ดฟาง” ด้วยเปลือกมันสำปะหลัง

1. เริ่มต้นด้วย การเตรียมดิน ส่วนใหญ่ก็จะขุดดินตากย่อย แต่ถ้าดินร่วนซุยมาก ๆ เป็นดินทราย อยู่แล้วปาดพื้นให้เรียบก็พร้อมที่จะใช้ได้
2. เอาไม้มาตีเป็นกรอบ เป็นแม่พิมพ์กว้าง 1 ฟุต ยาวฟุตครึ่ง หรือ 2 ฟุต สูง 1 ฟุตหรือจะรูปร่างแตกต่างจากนี้ก็ใช้ได้ทั้งนั้น วางบนพื้น ดิน
3. เอาวัตถุดิบคือเปลือกของหัวมันสำปะหลัง มาแช่หรือเอามาชุบน้ำให้เปียก แล้วนำมาใส่ในกรอบไม้ ใส่จนได้ระดับที่ต้องการเช่น ประมาณ 1 ฝ่ามือหรือ ประมาณ 1 คืบ แล้วก็กดให้แน่น จากนั้นก็ยกกรอบไม้ออก วางเลยไป ประมาณ 1 ฟุต แล้วก็ทำกองต่อไปทำเหมือนกัน
4. เมื่อเตรียมกองเห็ดได้มากจนถึงระดับที่พอใจแล้ว ก็เอาเชื้อเอาอาหารเสริม มาใส่ โรยให้ทั้งบนกองและทั้งบนดินรอบ ๆ กอง รดน้ำอีกจนเพียงพอ น้ำสุดท้าย ใช้ภูไมท์จำนวน 1 กก.ต่อน้ำ 5 ปีบ กวนให้ละลายแล้วก็รดลงไป
5. สุดท้ายแล้วปิดด้วยผ้าพลาสติก เอาฟางคลุมทิ้งไว้ 3 วัน 3 คืน เส้นใยเห็ด ฟางก็เจริญแผ่ไปทั่ว วันที่ 4 เปิดผ้าพลาสติกแล้วรดน้ำลงไป เป็นการตัดใยให้ ยุบเพื่อเป็นการถ่ายเทอากาศแล้วปิดเหมือนเดิม บางคนอาจจะขึ้นโครงวันนี้หรือ บางคนอาจจะขึ้นโครงมาตั้งแต่วันแรก ก็คลุมไว้ตามเดิม แล้วเปิดรดน้ำตามความ จำเป็นดูความเหมาะสม ดูว่าดินแห้งหรือกองแห้งหรือไม่อย่างไร และถ่ายเท อากาศ ทำในวันที่ 5 และวันที่ 6 วันที่ 7 และวันต่อไป
6. ประมาณวันที่ 7 ก็มีเห็ดให้เริ่มเก็บได้แล้ว เห็ดนี้ก็จะเก็บได้จน กระทั่งหมด อาจจะใช้เวลาแค่ 3 – 5 วัน แต่ถ้าทำกองค่อนข้างสูงก็อาจจะเก็บ ได้หลายวันขึ้น ย้ายที่ทำแปลงใหม่เพราะเห็ดออกน้อยจนไม่คุ้มค่าแรง เราก็โยก ย้ายที่ทำแปลงใหม่
ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง: การเพาะเห็ดฟางให้ได้ผลผลิตมากหรือมีกำไรมาก ขึ้นอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบแวดล้อม ดังนี้
1. ดินและน้ำ การเพาะเห็ดฟางต้องเพาะอยู่บนดินและน้ำซึ่งอาจจะมีสารที่เป็นผลบวก ที่เป็นผลลบเจือปนอยู่ในน้ำ รวมไปถึงความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ
2. วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการเพาะเห็ด ซึ่งจะทำให้ได้เส้นใยมากและเส้นใยก็จะแปรสภาพเป็นดอกเห็ดอีกครั้งหนึ่ง
3. อาหารเสริม อาหารเสริมที่นำมาใช้อาจจะเป็นรำพวนข้าว ในการเพาะเห็ดบางรูปแบบ ใช้ผักตบชวาสับเป็นชิ้นเล็ก ในสมัยก่อนมีการใช้ไส้นุ่น ใช้กากเมล็ดฝ้ายหรือเศษฝ้ายที่ได้มาจากโรงงานปั่นฝ้าย หรืออาจจะเป็นเศษพืชอื่น ๆ ชิ้นเล็กที่ย่อยสลายง่าย เปียกน้ำง่ายและเห็ดชอบกิน
4. อุณหภูมิ ถ้าฤดูแตกต่างหรืออุณหภูมิแตกต่างมาก การเจริญเติบโตของเส้นใยก็แตกต่างไป เช่น หน้าหนาวเส้นใยจะเจริญช้าโดยทั่วไป แต่ในหน้าร้อนอุณหภูมิสูงเส้นใยก็จะเจริญเติบโตรวดเร็วกว่า
5. ภูไมท์ซัลเฟต ปัจจุบันนำมาใช้ในการเสริมสร้างให้เส้นใยเห็ดเจริญเติบโตได้ดี มีจำหน่ายทั้งของแท้และมีผู้ทำปลอมเลียนแบบ
6. การคลุมกอง ว่าคลุมดีแค่ไหน เก็บความชื้นได้ดีขนาดไหน
7.การถ่ายเทอากาศ เมื่อถึงระยะจะต้องถ่ายเทอากาศได้มีการรดน้ำ มีการถ่ายเทอากาศได้ดีแค่ไหน
8. วิธีการเก็บดอกเห็ด ที่ทำให้ดอกเห็ดที่เหลือที่ไม่ได้เก็บกระทบกระเทือน ยังคงสามารถเจริญเติบโตเป็นดอกใหญ่ได้ต่อไป มีเรื่องของโรค ของแมลง ของศัตรูของเห็ดต่าง ๆ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตมากหรือน้อย
ข้อคำนึงในการเพาะเห็ดฟางบนพื้นดินด้วยเปลือกมันสำปะหลัง:
1.เรื่องของดิน
จำเป็นต้องศึกษาสภาพของดินเพราะว่าจะเกี่ยวข้องกับการรดน้ำ ถ้าเป็นดินทรายจัด เมื่อรดน้ำ น้ำส่วนเกินก็จะระบายถ่ายเทไปอย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นดินร่วน น้ำก็จะระบายถ่ายเทลงหน่อย ถ้าเป็นดินเหนียว น้ำซึมยากหากรดน้ำโดยที่น้ำขังอยู่ บริเวณนั้นเส้นใยเห็ดก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้
จำเป็นจะต้องหาวิธีที่จัดการให้น้ำมีการระบายถ่ายเทได้ดี และเมื่อน้ำระเหยจากดินข้างล่างขึ้นมา ในสภาพนี้อาจจะใช้ผ้าพลาสติกคลุมที่จะช่วยเก็บความชื้นไว้ได้ จึงทำให้ไม่ต้องรดน้ำมากหรือบ่อยเกินไป ดินนั้นเป็นดินที่มีการปลูกพืชผักมาก่อนหน้านี้ แต่ต้องไม่มีการใช้สารเคมี เช่น ใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าไร หรือใช้ยาฆ่าเชื้อรา เชื้อรากับเห็ดนั้นเป็นพี่น้องกัน สารเคมีที่มาฉีดพ่นฆ่าเชื้อราส่วนใหญ่จึงฆ่าเชื้อเห็ดได้
เคยมีการฉีดยาฆ่าเชื้อราที่ดินบริเวณที่จะปลูกเห็ดหรือไม่ ถ้ามี การฉีดพ่นครั้งสุดท้ายนานเท่าไรแล้ว มีตกค้างอยู่มากแค่ไหน อาจจะมีผลกระทบไปถึงผลผลิตของเห็ดที่จะเจริญบนดินรอบ ๆ กองเห็ด ถ้าไม่ได้ระมัดระวังเรื่องนี้ ก็จะได้ผลผลิตเห็ดเฉพาะบนกอง บนดินนั้นจะไม่ได้เลย เพราะสารเคมีตกค้าง ถ้าสารเคมีตกค้างมาก ๆ ซึมเข้ามาที่กองแม้แต่เห็ดบนกองก็อาจจะไม่ได้ ดินที่เราปลูกเห็ดนั้นมีอินทรีย์วัตถุเจือปนอยู่มากน้อยแค่ไหน
ถ้าเป็นดินที่กระด้างไปหมดมีแต่เนื้อดินมีแต่เนื้อทราย โอกาสของการเกิดเห็ดบนดินรอบ ๆ กองก็จะลดลง แต่ถ้ามีอินทรีย์วัตถุบนดิน เป็นดินดีที่มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพต่าง ๆ ในการปลูกพืช และอินทรีย์วัตถุเหล่านั้นยังคงมีอยู่ในดิน เช่นนี้ มีแนวโน้มที่ดินแปลงนี้จะให้ผลผลิตเห็ดมากขึ้น ดินแต่ละที่มีความเป็นกรดเป็นด่างไม่เท่ากัน ในพื้นที่เป็นบึงเก่าเป็นหนองน้ำเก่า มีการสลายตัวของอินทรีย์วัตถุ มีฮิวมิคแอซิด ตกค้างอยู่มาก หรือมีกรดตกค้างอยู่มาก เช่น ที่ดินพรุเก่า
เห็ดนั้นมีความต้องการ pH หรือความเป็นกรดเป็นด่างที่แตกต่างกัน ในกรณีของเห็ดฟางจะเจริญเติบโตดีที่สุดที่ pH 7.2 คือ เลยค่าความเป็นกลางมานิดเดียว ถ้าดินบริเวณนั้นตรวจแล้วเป็นดินที่เป็นกรดมาก พยากรณ์ได้ว่าผลผลิตบนดินรอบกองจะต่ำ ถ้า pH ของดินที่นั่นมีปูนตกค้างมาก มีค่า pH เกิน 7.2 มากไป พยากรณ์ว่าจะได้ผลผลิตเห็ดรอบ ๆ กองนั้นน้อยลง ถ้าตรวจสอบแล้วปรากฏว่าดินมีความเป็นกรดสูงเราก็จัดการแก้ไข โดยการใส่ปูนมาร์ลหรือใส่โดโลไมท์หรือหินปูนฝุ่นเหล่านี้เพื่อแก้ไขให้ pH เป็นกลางหรือใกล้เป็นกลาง ผลผลิตของเห็ดบนดินรอบ ๆ กองก็จะสูงขึ้น
ถ้าหากดินที่ใช้ปลูกเห็ดเป็นดินเปรี้ยว และเราต้องการที่จะใส่ปูน เราต้องจดเอาไว้ด้วยว่าพื้นที่นี้ค่า pH เท่านี้ ใส่ปูนในอัตราเท่าไรจึงเหมาะสม แต่ถ้าใส่ปูนลงไปแล้วในครั้งนั้นได้ผลผลิตเห็ดที่ดี เราห้ามจำว่าพื้นตรงนั้นจะต้องใส่ปูนเท่านั้น ๆ ทุกครั้งไปในการปลูกเห็ด เพราะเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง
เนื่องจากว่าเราใส่ปูนลงไปครั้งหนึ่งแล้ว พอปลูกเห็ดไปแล้ว ปูนนั้นไม่ได้สลายตัวหรือไม่ได้ถูกใช้ไปหมดจนกระทั่งดินกลับไปเปรี้ยวตาม เดิม แต่ว่าเมื่อใส่ปูนไปครั้งหนึ่งค่า pH ของดินนั้นสูงขึ้น และปูนใส่ไปครั้งหนึ่งจะอยู่ได้หลายปี ในครั้งต่อไปสมมติว่าอีกฤดูหนึ่งเราต้องการที่จะปลูกเห็ดลงไปในพื้นที่ บริเวณนั้นอีก แต่ไม่ต่อเนื่องกัน ไม่ให้ใช้ข้อมูลเก่า
จะต้องตรวจวัด pH ของดิน ณ จุดนั้นว่ามี pH เท่าไรในขณะนั้น สมมติว่ายังไม่ถึง 7.2 แต่ไม่เปรี้ยวเท่าเก่า ถ้าอย่างนั้นอัตราการใช้ของการใส่ปูน ก็จะใส่น้อยลงกว่าที่ใส่ครั้งแรก สำหรับพื้นที่ใดหากเป็นดินเค็ม พื้นที่นั้นจะไม่เหมาะสมต่อการปลูกเห็ดฟาง ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดฟางนั้นแพ้ความเค็ม ไม่สามารถจะให้ผลผลิตที่ดีบนดินที่เค็มนั้นได้ สมมติว่าเค็มเพียงเล็กน้อยแล้วต้องการที่จะปลูกเห็ด เราอาจจะใช้แกลบโรยหนา ๆ บนดินบริเวณนั้นแล้วค่อยปลูกเห็ด แต่ก็ถือว่ายังไม่ดี เพราะเมื่อรดน้ำ น้ำไปต่อเชื่อมกับดินเค็มที่อยู่ข้างล่างน้ำก็จะเค็ม
เมื่อเกิดการระเหยที่ข้างบนน้ำเค็มข้างล่างก็จะเคลื่อนย้ายขึ้นมา แล้วทิ้งเกลือเอาไว้เห็ดก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีบนดินเค็มเหล่านั้นได้ อันนี้ต้องยอมรับความเป็นจริง พื้นที่ดินเค็มก็ไม่เหมาะที่จะเพาะเห็ดอยู่บนพื้นที่ดินเค็มนั้น ๆ ในเรื่องของการเตรียมดินถ้าเป็นดินที่มีลักษณะร่วนซุยอยู่แล้ว การขุดและตากไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ก็เพียงพอที่จะให้ดินนั้นเหมาะสมต่อการใช้ปลูกเห็ด
ในสภาพของดินที่เหนียวจัดบางครั้งก็ต้องขุดและตาก และเมื่อเป็นดินเหนียวก็จะแข็งอยู่ ควรจะย่อยดินที่แข็งและเหนียวนั้นให้ร่วนลงเป็นก้อนเล็กก่อนที่จะทำการปลูก เห็ด ซึ่งจะได้ผลผลิตที่ดีกว่าปล่อยให้ดินเหนียวและแข็งเป็นก้อน ๆ ในสภาพที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น สมมติว่าเป็นดินลูกรังถ้าเป็นดินลูกรังแท้ ๆ เวลาที่ปลูกเห็ด เห็ดก็จะไม่ได้รับผลที่มีอยู่ในดินลูกรังนั้น แต่ว่าจะได้ผลผลิตเห็ดออกมาจากการย่อยสลายเศษพืชต่าง ๆ ที่วางอยู่บนดินนั่นเอง
มีผู้สอบถามว่าถ้าจะปลูกเห็ดแต่ว่าจะใช้เป็นพื้นปูน ปลูกเห็ดบนพื้นปูนซีเมนต์จะมีผลดีผลเสียอย่างไรหรือไม่ ตอบได้ว่าเวลาเราผลิตเห็ดโดยที่ปลูกอยู่บนดินมันจะมีผลผลิต 2 ส่วน ส่วนหนึ่งก็คือเห็ดที่ขึ้นอยู่บนกอง เช่น ในกรณีที่ใช้เปลือกของหัวมันสำปะหลังก็จะขึ้นอยู่บนกองของเปลือกมันสำปะหลัง อีกส่วนหนึ่งนั้นก็จะขึ้นอยู่บนดินรอบ ๆ กอง ดินยังเป็นแหล่งที่มีการระเหยของน้ำในดินขึ้นมาสู่กอง แต่ถ้าเป็นพื้นซีเมนต์เราก็จะได้เห็ดเฉพาะบนกอง บนพื้นจะไม่มีดอกเห็ดเกิดขึ้น ส่วนน้ำที่จะซึมผ่านในเนื้อซีเมนต์ขึ้นมาก็ไม่มี ดั้งนั้น ก็อาจจะต้องคอยโชยน้ำอยู่ที่พื้นซีเมนต์ให้พื้นซีเมนต์นั้นเปลียกชื้น และมีการระเหยของน้ำขึ้นมาอยู่ที่กองของวัตถุดิบที่เราได้คลุมผ้าพลาสติกเอา ไว้ตลอดเวลา
เมื่อเราขุดดินแล้วก็ตากเช่นนี้ โดยมากสภาพดินจะมีความเหมาะสม ดินที่ไม่เหมาะจะปลูกเห็ดคือดินที่เพิ่งจะปลูกเห็ดรอบที่แล้วผ่านไป เพิ่งเสร็จใหม่ ๆ เมื่อปลูกเห็ดหมดไปรอบหนึ่งก็จะมีเส้นใยเห็ดเป็นจำนวนมากที่ตกค้างอยู่แถว นั้น จะเป็นอาหารของตัวไร จะเป็นอาหารของราเขียว ไตรโคเดอร์ม่า บริเวณนี้เป็นที่ไม่เหมาะจะปลูกต่อไป ควรจะปล่อยให้หญ้าขึ้นสักรอบหนึ่งก่อนหรือปลูกพืชอย่างอื่นไปรอบหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาใช้พื้นที่นี้ปลูกเห็ดต่อไปได้อีก ถ้าปลูกซ้ำกันศัตรูก็จะระบาด ทั้งไร ทั้งราเขียว ไตรโคเดอร์ม่า ก็จะเข้าทำลายเห็ด แต่เมื่อพ้นไปหนึ่งฤดูกาลทั้งตัวไรและก็ราเขียวก็จะลดน้อยลงจนไม่มีผลกระทบ ต่อการผลิตเห็ดรุ่นต่อไป
เรื่องของน้ำ:
น้ำที่จะเอามาใช้ในการเพาะเห็ดควรจะเป็นน้ำที่สะอาด น้ำที่มีปัญหาถ้าน้ำมีกลิ่นเหม็น อาจจะเป็นน้ำเกิดภาวะเน่าเสียจากอะไรก็ตามถือว่าเป็นน้ำไม่เหมาะสม น้ำที่เน่าอาจจะเน่าเนื่องจากว่าสารอินทรีย์ต่าง ๆ ในคอกสัตว์ เช่น ในช่วงที่มีฝนตกเกิดการชะล้างสารอินทรีย์ต่าง ๆ ในคอกสัตว์ลงไป หรือจากแหล่งอื่น ๆ น้ำที่บูดเน่าเสียหายก็จะปล่อยกลิ่นเหม็นออกมา เป็นพิษต่อเห็ดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก๊าซแอมโมเนีย หรือ NH 3
น้ำที่มีอินทรีย์วัตถุมากเกินไปจะทำให้เกิดขบวนการหมักบูดและเกิดกลิ่นที่ ไม่พึงประสงค์ ควรจะมีการบำบัดน้ำเสียก่อน ถ้าไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำนั้นจริง ๆ ก็หาวิธีที่จะทำให้น้ำนั้นกลับมาค่อนข้างสะอาดก่อน
น้ำที่มีภาวะเป็นกรดเป็นด่างไม่เหมาะสมก็จะทำให้ผลผลิตของเห็ดนั้นลดลง เห็ดฟางชอบ pH ประมาณ 7.2 ถ้าน้ำเป็นกรดก็จะต่ำกว่า 7.0 ลงมาเหลือ 6.5 อาจจะกระทบกระเทือนไม่มาก แต่ถ้าต่ำลงมาจนถึง 6 ถึง 5 ถึง 4 อย่างนี้ น้ำนั้นจะทำให้ผลผลิตของเห็ดต่ำลง ถ้าจำเป็นควรจะต้องดูให้เป็น น้ำที่กักบริเวณได้ แล้วหาวัสดุปูน เช่น โดโลไมท์หรือปูนมาร์ลหรือหินปูนฝุ่นหรือหินปูนบด หว่านลงไปในน้ำ แล้วปล่อยให้เขาปรับสภาพให้เป็นกรดลดลง ถ้าขึ้นมาใกล้เป็นกลางก็เป็นสิ่งที่ดี
หากพื้นที่ใดน้ำที่จะเอามาใช้รดเห็ดมีภาวะเป็นด่างคือเกิน 7.0 ขึ้นไปมาก เห็ดจะออกดอกได้น้อย เห็ดจะเจริญเติบโตไม่ดีควรจะต้องหาวิธีปรับน้ำนั้นให้กลับเข้ามาเป็นกลาง ในกรณีที่จำเป็นอาจจะใช้แหล่งน้ำที่เป็นกรดเอามาเจือผสม ถ้าเป็นสภาพที่เป็นด่างเพราะหินปูนมากเกินไป เราอาจจะดูแหล่งของกรดที่ราคาถูก แต่ถ้าต้องลงทุนถึงขนาดนี้โดยมาก เพาะเห็ดก็แทบจะไม่มีกำไรแล้ว หาแหล่งหาพื้นที่ที่จะปลูกเห็ดที่ดินก็ดีน้ำก็ดี ให้มีปัญหาน้อยที่สุด
ปัญหาที่พบว่าอาจจะเกิดจากน้ำอีกพวกหนึ่งคือพวกสารพิษ สารพิษนี้บางครั้งก็ได้มาจากพวกสวนไร่นานั่นเอง เช่นมีการฉีดยาฆ่าหญ้า ฉีดยาฆ่าแมลง ฉีดยาป้องกันกำจัดเชื้อราเหล่านี้ ถ้ามีสารที่ป้องกันกำจัดเชื้อรา มีผลกระทบมาก เห็ดกับรานั้นใกล้เคียงกันที่สุด น้ำที่มียาฆ่าเชื้อราก็จะฆ่าเห็ดไปในตัว ถ้าเป็นน้ำที่มาจากน้ำประปา เป็นน้ำที่ใสแต่บังเอิญช่วงนั้นฝ่ายผลิตน้ำประปาใส่คลอรีนมามาก ผลผลิตเห็ดก็จะไม่ค่อยดีสมมติว่าจะต้องใช้น้ำที่ใส่คลอรีนมาแล้ว คลอรีนนั้นใส่ลงไปเพื่อฆ่าเชื้อ ดังนั้นควรที่จะหลีกเลี่ยง แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะต้องมีภาชนะ มีโอ่งสำหรับที่จะเอาน้ำใส่เอาไว้แล้วก็เปิดฝาโอ่งเพื่อให้แดดส่องลงไป ทิ้งให้แดดเผาอยู่ประมาณ 2 – 3 วัน คลอรีนส่วนที่เกินที่เหลืออยู่ก็จะระเหยหายไป คือจะลดลง
น้ำที่มีการระบายมาจากโรงงานอาจจะเป็นน้ำที่อ้างว่าได้มีการบำบัดเรียบร้อย แล้ว บำบัดเรียบร้อยแล้วนี้ไม่แน่ว่าบำบัดในส่วนไหน น้ำที่บำบัดมาแล้วจากโรงงานโดยมากไม่นิยมที่จะเอามาใช้เพาะเห็ดโดยตรง น้ำนั้นควรจะมีสระน้ำ มีอ่างเก็บน้ำหรือเขาขุดเป็นบ่อน้ำขึ้นโดยเฉพาะ แล้วในอ่างในบ่อนั้นปลูกผักตบชวาหรือจอก เป็นพืชน้ำที่จะช่วยปรับสภาพน้ำให้กลับดียิ่งขึ้น น้ำที่ได้มีผักตบชวามีพืชน้ำขึ้นอาศัยอยู่ ส่วนมากก็จะได้มีการปรับสภาพจนเหมาะที่จะใช้ในการเพาะเห็ด
วิธีตรวจสอบอย่างง่ายแบบที่ตรวจสอบความสกปรกของน้ำ ใช้น้ำนั้นลองมาเลี้ยงปลาหางนกยูง ใส่ปลาหางนกยูงลงไป ถ้าปลาหางนกยูงตายนี้แสดงว่าใช้ไม่ได้ ต้องเป็นน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาหางนกยูงได้ดี เป็นการตรวจสอบ โดยปรกติทั่วไปน้ำที่ใช้เพาะเห็ดก็ได้จากแหล่งแม่น้ำ ลำคลองหรือบึง บ่อ สระต่าง ๆ ที่มีปลาอาศัยอยู่ ถ้าปลาอาศัยอยู่ได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาสำหรับที่จะเอามาใช้เพาะเห็ด แต่ถ้าเป็นน้ำที่ใส ๆ นิ่ง ๆ ปลาก็ไม่มีอะไรก็ไม่มี และเมื่อไม่ได้ตรวจสอบเรื่องกรดด่างเรื่องสารพิษเรื่องอะไรต่าง ๆ การที่จะเอาน้ำมาเพาะเห็ดก็ไม่สามารถที่จะคาดหมายว่าจะได้ผลผลิตที่ดี ถ้าน้ำมีไม่ค่อยมากก็อาจจะเอาน้ำนั้นมาแล้วก็จับทำลายสารพิษต่าง ๆ เช่นใช้สเม็คไทต์หรือสเม็คโตทัฟฟ์หว่านใส่ลงไป แล้วก็ทิ้งให้เขาทำความสะอาดคือย่อยสลายหรือจับตรึงสารพิษต่าง ๆ เมื่อน้ำนั้นใสดีแล้วและตรวจสอบด้วยปลาหางนกยูงแล้ว ปรากฏว่าไม่มีพิษภัยใด ๆ น้ำนั้นก็จะใช้เพาะเห็ดได้ดี แต่อย่างไรก็ตามเรารู้ทฤษฎีต่าง ๆ แล้วก็ต้องคำนวณเป็นว่าต้องการน้ำจากแหล่งที่ต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุด รู้ทฤษฎีไม่พอต้องคิดบัญชีเป็นด้วย ถ้าทำน้ำให้บริสุทธิ์ปลูกเห็ดได้ดีแต่ต้นทุนสูงเกินไปก็ไม่สามารถดำเนิน ธุรกิจได้
วัตถุดิบที่ใช้ในการเพาะเห็ดฟาง:
วัตถุดิบในที่นี้ก็คือเปลือกของหัวมันสำปะหลัง ในปัจจุบันมีวัตถุดิบขายในสภาพที่แตกต่างกันมาก และเกษตรกรก็มีความเข้าใจในเรื่องของวัตถุดิบนี้แตกต่างกันไป ถ้าถามว่าวัตถุดิบแบบใดที่ดีที่สุดต้องตอบว่าเป็นเปลือกของหัวมันสำปะหลัง ที่มีออกมาใหม่ล่าสุด แล้วก็นำมาตากให้แห้ง ตากให้แห้งแล้วก็เก็บเอาไว้ ไม่โดนฝนชะล้างไม่เปียกไม่บูดไม่เน่า
ถ้าได้เปลือกหัวมันมาใหม่ ๆ แล้วก็ตากให้แห้งให้เร็วที่สุดเท่าไรนั้นก็เป็นวัตถุดิบที่ดีที่สุด คือยังมีแป้งแทรกอยู่เป็นส่วนที่จะมาใช้ในการหมักสลายและก็เกิดเส้นใยเห็ด ได้ดีที่สุด แต่ถ้าได้เป็นเปลือกมันสำปะหลังชนิดที่กองเอาไว้แล้วถูกฝนตกล้างแล้วล้างอีก จนจืด อย่างนี้คุณค่าทางอาหารของเห็ดก็จะมีน้อยลง
ในส่วนของแป้งก็จะไม่มีเหลือแต่เป็นเศษของเปลือกที่ย่อยสลายออกมาช้า ๆ ผลผลิตก็จะไม่ค่อยมากนักอาจจะต้องใช้อาหารเสริมช่วย ถ้าเป็นวัตถุดิบในฤดูฝน บางแห่งได้คุณภาพไม่ดีเลยเพราะว่าเปลือกหัวมันโดนฝน เป็นกองขนาดใหญ่ ๆ เกิดการหมักการบูดการเน่า เน่าเหม็น เหม็นเปรี้ยว ในกองนั้นเป็นวัตถุดิบที่เน่าเหม็นเปรี้ยว บางครั้งพวกเปลือกหัวมันที่เก่ากองเอาไว้นานโดนฝน ถูกเชื้อเห็ดชนิดอื่นขึ้นเช่น เห็ดขี้ม้าหรือเห็ดถั่วขึ้นแล้วก็ย่อยกินอาหารที่มีอยู่ในเปลือกหัวมันไป เป็นบางส่วน คือคุณภาพนั้นก็ลดลงตัวอาหารที่เห็ดฟางจะเอามาใช้นั้นก็น้อยลง เกษตรกรควรจะหาวิธีที่เหมาะสมในการที่จะเก็บรักษาวัตถุดิบนั้น
วัตถุดิบถ้าเผื่อได้มาได้ของใหม่มาจะดีที่สุด ไม่บูด ไม่เน่า ไม่เก่า ไม่แก่ ไม่เก่าเก็บ ซื้อมาจากโรงงานเอามากองแล้วก็เอามาเกลี่ยในลานตาก ให้โดนแดดให้จัด แดดเปรี้ยง ๆ เกลี่ยให้บาง ๆ ให้แห้งเร็วต้องไม่ให้ถูกฝน ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ต้องไม่ขนวัตถุดิบนั้นไกลจนเกินไป ถ้าขนมาจากที่ไกลค่าขนส่งก็จะมาก ต้นทุนก็จะแพง ในเรื่องการเรียกร้องที่จะได้เปลือกหัวมันที่ใหม่ที่สุด เราก็เพียงที่คิดว่าอยากจะได้ แต่ถ้าจำเป็น ไม่มี จำเป็นต้องใช้ก็ดูอย่าให้เก่าเกินไป อย่าให้ถูกย่อยสลายจนเกินไป เมื่อขนเปลือกหัวมันมาถึงพื้นที่ที่ฟาร์มแล้ว ควรจะต้องมีสถานที่เก็บ อาจจะเป็นยุ้งหรือไม่ก็มีผ้าคลุมกันฝน เพราะถ้ามากองเอาไว้ถ้าฝนตกแล้วก็เน่าแฉะ ผลผลิตที่พึงจะได้ดีก็มาสูญเสีย ถ้าขนมาวัตถุดิบมาถึงแล้วก็ยังชื้นอยู่ อย่างนั้นควรจะเกลี่ยออกตากแดด ตากให้แห้งสนิทเสียก่อนแล้วจะค่อยนำมาเก็บรักษาเอาไว้ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกันกับเปลือกฝักถั่วเขียว เปลือกฝักถั่วเหลือง เราควรจะได้ของใหม่มา ตากแห้งเก็บเอาไว้ให้ดีอย่าให้โดนฝน

ในอนาคตอาจจะมีการศึกษาเพิ่มขึ้นกันอีกหลายอย่าง เช่น ในประเทศญี่ปุ่นเพาะเห็ด จะซื้อซังข้าวโพด วันหนึ่งซื้อไปจากประเทศไทย ซื้อต้นข้าวโพดที่ตากแห้ง ป่นให้ละเอียด ก็เอาไปเพาะเห็ดแต่ซังข้าวโพดป่น ต้นข้าวโพดป่น ประเทศไทยยังไม่ค่อยได้เอามาใช้ในการเพาะเห็ด ยังมีต้นข้าวฟ่างมีต้นทานตะวัน ต้นถั่วต่าง ๆ ถ้าตากแห้งแล้วเข้าเครื่องตีป่น ตีป่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย น่าที่จะเอามาเพาะเห็ดในรูปแบบเดียวกันนี้ได้ ท่านคงได้ยินได้ทราบมาบ้างว่าเขาใช้ถุงเห็ดที่เขาใช้เพาะในระบบถุงที่หมด อายุแล้ว เอาปลูกเห็ดในลักษณะที่คล้าย ๆ กัน ใช้พวกผักตบชวาสับ จะใช้ผักตบชวาแห้ง ผักตบชวาสดสับเป็นชิ้นเล็ก ก็เอามาใช้เป็นตัวอาหารเสริมช่วยทำให้ผลผลิตของเห็ดนั้นดีขึ้น ในลักษณะเช่นนี้จะไม่ค่อยใช้ผักตบชวาเพื่อเป็นวัตถุดิบโดยตรง ใช้ฐานะอาหารเสริม ในการที่จะเพาะเห็ดฟางให้ได้ผลดีนั้น อาหารเสริมก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญ ในปัจจุบันนี้ในแง่มุมของอาหารเสริมจะมีทั้งที่เป็นเศษอินทรีย์วัตถุ และก็มีส่วนที่บอกว่าเป็นอาหารเสริมจากหินแร่ภูเขาไฟเช่น ภูไมท์

การเพาะ”เห็ดฟาง”กองเตี้ย

การเพาะ”เห็ดฟาง”กองเตี้ย

เห็ดฟางเป็นเห็ด ที่เพาะง่าย ใช้เวลาสั้น 5-7 วัน ก็เก็บดอกเห็ดที่เพาะได้ เป็นเห็ดที่มีผู้ นิยมบริโภคมาก ทำให้ความต้องการของตลาดสูง ซึ่งทำให้มีราคาดีตลอดปี จึงมี ผู้นิยมเพาะเห็ดฟางกันมาก
การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย มีการพัฒนามาจากการเพาะแบบกองสูง ซึ่งเป็นการ ประหยัดวัสดุเพาะและง่ายต่อการดูแล สามารถให้อาหารเสริม และให้ผลผลิตที่แน่ นอน
วัสดุอุปกรณ์และขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย:
1. การเตรียมดินบริเวณเพาะเห็ด ควรขุดดินและย่อยให้ละเอียดไว้ก่อน และรดน้ำให้ดินเปียกชุ่ม บริเวณพื้นดินรอบ ๆ กองเพาะเห็ดจะได้เห็ดเพิ่มจากฟางบนกองเพาะเห็ดอีกจำนวนหนึ่ง
2. ไม้แบบ ไม้แบบเพาะเห็ดใช้ไม้กระดานมาทำเป็นแบบแม่พิมพ์ โดยมีความกว้าง 120 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร ด้านล่างกว้าง 30 เซนติเมตร ด้านบนกว้าง 25 เซนติเมตร
3. วัตถุดิบในการเพาะเห็ด จะนิยมฟางข้าวเพราะหาง่ายและมีจำนวนมาก จะใช้ฟางทั้งต้น หรือฟางข้าวนวดก็ได้ ยังมีวัตถุดิบอีกหลายชนิดที่ใช้เพาะเห็ดฟางได้ เช่น เปลือกของฝักถั่วเขียว ถั่วเหลือง ต้นถั่ว เปลือกผิวมันสำปะหลัง ผักตบชวา เศษต้นพืช ต้นหญ้า ปัจจุบันใช้ขี้เลื่อยจากการเพาะเห็ดถุงพลาสติก และผักตบชวาก็ให้ผลผลิตดีเท่ากับฟาง วัตถุดิบที่ใช้ในการเพาะเห็ด ต้องนำไปแช่น้ำให้เปียก ใช้เวลาในแช่ประมาณ 30 นาที ก็นำไปเพาะเห็ดได้
4. อาหารเสริม การเพิ่มอาหารเสริมจะเป็นการเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น ที่นิยมคือไส้นุ่น เปลือกฝักถั่ว ผักตบชวา จอกหูหนู มูลสัตว์ที่แห้งเช่นขี้ควาย ก่อนใช้ต้องแช่ให้ชุ่มน้ำเสียก่อน
5. เชื้อเห็ด เชื้อเห็ดฟางที่นำมาใช้ควรมีอายุ 5-10 วัน จะเห็นเส้นใยเจริญเติบโตเต็มถุงสีขาว ถ้าเส้นใยแก่จะมีสีเหลืองเข้ม หรือมีดอกเห็ดเจริญในถุงเชื้อ ไม่ควรนำไปใช้ และต้องไม่มีศัตรูเห็ด เช่น ตัวไร ไม่มีเชื้อราชนิดอื่นปนอยู่ เช่น ราเขียว ราเหลือง ราดำ หรือเชื้อราชนิดอื่นที่ไม่ไช่เชื้อเห็ด และมีกลิ่นหอมของเห็ด
6. วัสดุคลุมแปลงเพาะเห็ด โดยทั่วไปจะใช้ผ้าพลาสติกคลุม เป็นการควบคุมความชื้นและรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมต่อการเจริญของเห็ด ถ้าเพาะในที่โล่งแจ้งจะใช้ฟาง ใบมะพร้าว ใบตาล เพื่อป้องกันแสงแดด
ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย :
เมื่อมีการจัดเตรียมสถานที่และวัสดุเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มทำการเพาะเห็ดชั้นแรก โดยเห็ดฟางกองเตี้ยจะทำทั้งหมด 4 ชั้น
การเพาะชั้นที่ 1
1. นำไม้แบบหรือแม่พิมพ์เพาะเห็ดวางบนพื้นที่เตรียมไว้ นำฟางที่แช่น้ำใส่ลงในไม้แบบขึ้นย่ำพร้อมรดน้ำจนแน่นพอดี และให้มีความหนาประมาณ 10 เซนติเมตร
2. นำอาหารเสริมที่ชุ่มน้ำ โรยรอบขอบไม้แบบบนฟางบาง ๆ ทั้งสี่ด้าน
3. ใส่เชื้อเห็ด เชื้อเห็ดฟาง 1 ถุง มีน้ำหนักประมาณ 2 ขีด ขยี้เชื้อเห็ดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วแบ่งเป็น 4 ส่วน นำส่วนที่ 1 โรยลงบนอาหารเสริมให้ทั่วทั้งสี่ด้าน
การเพาะชั้น 2-4 ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับชั้นที่ 1 จนครบ 4 ชั้น
สำหรับชั้นที่ 4 ซึ่งเป็นชั้นบนสุดให้โรยอาหารเสริมและเชื้อเห็ดให้ทั่วผิวหน้าของแปลง แล้วนำฟางแช่น้ำมาคลุมหนาประมาณ 2-3 เซนติเมตร ใช้มือกดให้แน่นพอสมควร
4. ยกแบบไม้ออก ควรยกด้านหัวและท้ายพร้อม ๆ กัน นำไปเพาะแปลงต่อ ๆ ไป โดยแต่ละกอง แปลงเพาะเห็ดให้ห่างกันประมาณ 10-15 เซนติเมตร
5. ช่องว่างระหว่างแปลงเพาะเห็ดให้โรยอาหารเสริมและเชื้อเห็ด บนดินคลุมด้วยฟางบาง ๆ
6. คลุมแปลงเพาะเห็ดด้วยผ้าพลาสติก ถ้าทำหลาย ๆ กองให้คลุมผ้าพลาสติก ยาวตลอดทุกแปลงเป็นผืนเดียวกัน
7. นำฟางแห้ง คลุมทับบนผ้าพลาสติกอีกครั้ง
การดูแลรักษาแปลงเพาะเห็ด:
1. การคลุมผ้าพลาสติกแปลงเพาะเห็ด เป็นการรักษาอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อเห็ด โดยในวันที่ 1-3 ไม่ต้องเปิดผ้าพลาสติกเลย
2. เมื่อถึงวันที่ 3 ให้เปิดผ้าพลาสติก เพื่อเป็นการระบายอากาศปล่อยไว้ประมาณ 1 เซนติเมตร (ในระยะนี้จะสังเกตเห็นเส้นใยของเห็ดเจริญบนอาหารเสริมและฟาง ยังไม่เกิดตุ่มดอก)
3. นำฟางแห้งคลุมทับบนแปลง หนาประมาณ 3-5 เซนติเมตร แล้วคลุมทับด้วยผ้าพลาสติกเดิมบนฟาง แล้วปิดทับด้วยวัสดุป้องกันแสงบนผ้าพลาสติกอีกครั้ง อาจจะเป็นใบมะพร้าวแผงหญ้าคา หรือฟางแห้งก็ได้
4. ต่อจากวันที่ 4 ของการเพาะให้เปิดแปลงเพาะเห็ดทุกวันเป็นการระบายอากาศและดูแลการเจริญ ของดอกเห็ด ในวันที่ 5 จะเห็นตุ่มเห็ดสีขาวเล็ก ๆ บนฟางของแปลงเพาะเห็ด
5. ในระยะนี้ถ้ากองเห็ดแห้งให้รดน้ำเบา ๆ เป็นฝอยละเอียดบนฟางคลุมกองและรอบกองห้ามรดน้ำแปลงเพาะเห็ดเด็ดขาด จะทำให้ดอกเห็ดฝ่อและเน่า ถ้าเป็นฤดูฝนควรคลุมผ้าพลาสติกให้มิดชิด และทำร่องระบายน้ำรอบแปลงเพาะเห็ด
6. ดอกเห็ดจะพัฒนาเจริญเติบโต และเก็บผลผลิตได้ราวันที่ 7-9 วันของการเพาะเห็ด แล้วเก็บดอกเห็ดได้ราว 2-3 วัน ต่อจากนี้ไปจะได้ผลผลิตน้อย (ถ้าใช้ฟาง 10 กิโลกรัม จะได้ดอกเห็ด 1-2 กิโลกรัม)
การเก็บเกี่ยวเห็ดฟาง :
การเก็บดอกเห็ดจะนิยมเก็บในตอนเช้า ๆ เพราะดอกเห็ดจะตูมเต็มที่ในช่วงตี 3-4 ถ้าช้ากว่านี้ดอกเห็ดจะบานจะขายไม่ได้ราคา การเก็บดอกให้ใช้มือจับตรงโคนดอกโยกนิดหน่อยแล้วดึงออกมา ถ้าติดกันหลาย ๆ ดอกให้เก็บทั้งหมด อย่าให้มีชิ้นส่วนขาดหลงเหลืออยู่จะทำให้เน่าและเป็นสาเหตุการเน่าเสีย ของดอกเห็ดได้
ปัญหาการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย :
ผู้ประกอบการเพาะเห็ดจะประสบปัญหามากมายหลายชนิด จึงจำเป็นต้องศึกษาสาเหตุและวิธีการแก้ไขให้ถูกต้อง เป็นการศึกษาด้วยประสบการณ์ของตนเองจะเป็นผลดีอย่างยิ่ง แต่พอจำแนกปัญหาได้ดังนี้
1. พื้นที่เพาะเห็ด พื้นที่ที่มีสารเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา จะมีผลต่อการเจริญของเห็ดไม่ควรเพาะเห็ดในพื้นที่แบบนี้
2. วัสดุที่ใช้ในการเพาะเก่าเกินไป ถ้าเป็นฟางข้าวที่เก็บไว้นาน ๆ จะมีเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่อยู่ในกองฟางเจริญและใช้อาหารในฟาง ทำให้ไม่พอต่อการเจริญของเห็ด ควรเลือกฟางค่อนข้างใหม่ แห้ง ไม่สดเกินไป และไม่มียาฆ่าแมลง หรือยาฆ่าเชื้อราตกค้างอยู่
3. เชื้อเห็ด จะมีปัญหามากต่อผู้ประกอบการเพาะเห็ด โดยสาเหตุจากเชื้อเห็ดไม่บริสุทธิ์ สายพันธุ์ไม่ดี มีการต่อเชื้อกันหลายครั้งจนเชื้ออ่อนแอ ควรเลือกซื้อเชื้อเห็ดจากแหล่งที่ไว้ใจได้
4. ฤดูกาล ดินฟ้าอากาศ จะมีผลต่อการเจริญของเห็ดได้อย่างมาก โดยเฉพาะในฤดูหนาว เห็ดฟางจะไม่เจริญถ้าไม่มีการควบคุมอุณหภูมิ ถ้าในฤดูฝนจะทำให้แปลงเพาะเปียกชื้น ดอกเห็ดจะเน่าควรคลุมแปลงเพาะให้มิดชิด ในฤดูร้อนอุณหภูมิในแปลงเพาะจะสูงมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิสูงต่ำแตกต่างกันมากในเวลากลางวันและกลาง คืน (ไม่ควรต่างกัน 10 องศาเซลเซียส) ควรจะให้มีการระบายอากาศและควบคุมความชื้นให้เหมาะสม
5. การเพาะเห็ดฟางซ้ำในที่เดิมหลายครั้ง จะมีการสะสมศัตรูเห็ด และโรคเห็ด ทำให้ผลผลิตลดลง หรือไม่ได้เลย ถ้าจำเป็นต้องเพาะซ้ำที่เดิม ควรใช้ไฟเผาพื้นที่และโรยปูนขาวเพื่อปรับพื้นที่ใหม่
6. น้ำที่ใช้ในการแช่ฟาง ต้องมีสภาพเป็นกาง มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ที่ 6.5-7.0 น้ำต้องไม่เน่าเหม็น ถ้าเป็นน้ำประปาต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 6 ชั่วโมง และไม่มีสารเคมีและยาฆ่าแมลงตกค้างอยู่
7. ศัตรูเห็ด เช่น มด ปลวก ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ที่อาศัยของมด ปลวก ทำการเพาะเห็ด ควรแก้ไขโดยใช้ยาฆ่าแมลงผสมน้ำรดดินแล้วปล่อยไว้ประมาณ 1-2 เดือน ถึงทำการเพาะเห็ด

8. ศัตรูจากหนู กิ้งกือ จิ้งเหลน ที่ชอบเข้ามาอาศัยในแปลงเห็ด แล้วกัดกินดอกเห็ด หรือคุ้ยที่เขี่ยทำให้เกิดความเสียหาย ควรวางกับดักและทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยรอบบริเวณเพาะเห็ด